COLUMNIST

พลังงานขยะ... เลือกเทคโนโลยีผิดคิดจนหมดตัว
POSTED ON -


 

ท่ามกลางความสับสนว่า “ขยะ” นั้นเป็นตัวการเจ้าปัญหาหรือพลังงานอันมีค่ากันแน่ แท้ที่จริงแล้วปัญหาขยะในเมืองไทยเป็นอย่างไร ปัญหาและความสำเร็จอยู่ตรงไหน อยู่กับใคร อะไรคือจุดอ่อนที่ต้องกำจัด และ Key Success จริงๆ อยู่ที่อะไรบ้าง และอีกมากมายหลายคำถามที่ต้องการคำตอบ ถ้าใครยังไม่ใช่น้ำเต็มแก้วลองอ่านให้จบ แล้วจะพบคำตอบ จากประสบการณ์ที่คงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของปัญหา

 

ปัญหาขยะเมืองไทย ในที่นี้หมายถึงขยะชุมชนและขยะจากสำนักงาน ไม่รวมถึงขยะอุตสาหกรรมและขยะจากสถานพยาบาล หรือขยะที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพอจะสรุปสิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ จากขยะชุมชนได้ดังนี้

 

1. การรวบรวมขยะ โดยปกติแล้วขยะเป็นงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือพูดง่ายๆ ก็คือ ของเสียเหล่านี้เทศบาล อบต. อบจ. กทม.หรือเมืองพัทยา มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบขยะในเขตของตนเอง ซึ่งปัจจุบันการรวบรวมขยะให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันจำนวนมากเพื่อให้เกิด Economy of Scale ในการกำจัดทำได้ยาก ในท้องถิ่นแต่ละแห่งก็มีเรื่องของการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเป็นอุปสรรค นอกจากนี้อาจจะเกิดผลประโยชน์กับผู้ที่สามารถรวบรวมขยะได้จำนวนมากๆ ทำให้การรวบรวมยากขึ้นอีก สำหรับเรื่องนี้ผู้ที่อยู่ในวงการจึงจะทราบดี

 

2. พื้นที่จัดการขยะและการยอมรับจากชุมชน ในบางพื้นที่สามารถยอมรับให้นำขยะไปฝังกลบก่อมลพิษกับน้ำใต้ดินได้ แต่ไม่ยอมให้นำขยะมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า สาเหตุประการหนึ่งก็คือในอดีตมีการนำเทคโนโลยีถูกๆ มาใช้กำจัดขยะ จนชาวบ้านขาดความเชื่อถือ จึงมีการตั้งสมมติฐานและปฏิเสธไว้ก่อน

 

3. อัตราการอุดหนุน (Adder) จากภาครัฐยังไม่จูงใจนักลงทุนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงไว้แทนภาครัฐปัจจุบันโครงการพลังงานขยะที่มีขนาดมากกว่า10 MW ไปได้สวย แต่โครงการขนาดเล็กยังไม่คืนทุน ภาครัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องคิดใหม่ ไม่ต้องกลัวภาคเอกชนจะรวย แต่ควรมองภาคเอกชนว่ามีส่วนช่วยในการรับภาระกำจัดขยะและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศ

 

4. กฎระเบียบต่างๆ ไม่เอื้อต่อการลงทุนพลังงานขยะ เริ่มตั้งแต่การขอรับใบอนุญาตต่างๆ ต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปี ควรจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นแบบ One Stop Service เพื่อลดขั้นตอนและเวลาในการขอใบอนุญาตทุกชนิดให้ไม่เกิน 90 วัน 

 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ต้องรีบแก้ไข เช่น พ.ร.บ.ร่วมทุน ในส่วนของกฎหมายรอง (กฎหมายลูก) ซึ่งอาจจะโอนอำนาจท้องถิ่นกลับไปที่เจ้ากระทรวงต้นสังกัด รวมถึงปัญหาสายส่งไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ หรือปัญหาผังเมือง ซึ่งเพียงเท่านี้ก็น่าจะทำให้โครงการพลังงานขยะโซซัดโซเซเหมือนคนเมาแล้วขับ

 

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ (Key Success)

 

หากท่านรวบรวมขยะได้ปริมาณเพียงพอและคงที่แล้ว ปัจจัยสู่ความสำเร็จคงจะอยู่ที่เทคโนโลยีและเงินลงทุน สำหรับเงินลงทุนในขณะนี้กลับไม่ต้องเป็นห่วง หาก IRR (Internal Rate of Return) น่าสนใจ ก็จะมีนักลงทุนที่สนใจทำเป็นธุรกิจหรือทำเป็น CSR (Corporate Social Responsibility) จึงไม่ต้องเป็นห่วง แต่ควรหันมาดูที่เทคโนโลยีกันดีกว่า

 

1. Gasification (แก๊สซิฟิเคชั่น) เทคโนโลยีเก่าแก่กว่า 30 ปี มาวันนี้วันที่พลังงานมีน้อย หายากและราคาแพง นักประดิษฐ์ทั่วโลกจึงหันกลับมาพัฒนาอย่างจริงจัง ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าขนาด 1-2 MW จากชีวมวล พอมีความเป็นไปได้ แต่ต้องดูว่าเทคโนโลยีมาจากประเทศใด มีตัวอย่างที่ทำงานจริงๆ แล้วให้ดูหรือไม่

 

สำหรับประเทศไทยเทคโนโลยี Gasification ที่ใช้กับขยะได้มีการพัฒนาร่วมกับประเทศสเปน โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทยร่วมกันทำโครงการขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้โครงการนำร่องเชิงพาณิชย์ขนาด 1 MW ในอีก 1 ปีข้างหน้านี้

 

สำหรับโรงไฟฟ้าจากขยะขนาดใหญ่ๆ เช่น 10, 50, 100 เมกกะวัตต์ เริ่มมีโครงการนำร่องในยุโรปที่พอจะไปดูงานได้แล้ว แต่อย่าเผลอไปลงทุนในช่วงนี้ ควรให้เจ้าของเทคโนโลยีมาลงทุนเองก่อน จุดอ่อนของระบบนี้อย่างหนึ่งก็คือ คุณภาพของเชื้อเพลิง (RDF) ซึ่งต้องการเชื้อเพลิงคุณภาพดี ทำให้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

 

2. Steam Turbineหรือแบบกังหันไอน้ำ เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่เมืองไทยมีมานานและใช้ได้ผลดีกับเชื้อเพลิงชีวมวล มีให้ศึกษาดูงานกันตั้งแต่ขนาด 6-50 MW จุดอ่อนก็คือ โรงไฟฟ้าขนาดเล็กๆ 1-3 MW ยังแพงและอาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อย่างไรก็ตามการเตรียมเชื้อเพลิง (RDF) ที่ดีเพื่อให้ผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย อาจมีต้นทุนกว่า 30% ของโครงการ แต่ผลตอบแทนในการผลิตไฟฟ้าก็ค่อนข้างสูง

 

3. เตาเผาขยะ (Incinerator) ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศได้เลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากควบคุมมลพิษได้ยากและ NGO สากลต่อต้าน เตาเผาขยะส่วนหนึ่งที่มานำเสนอขายในเมืองไทยเป็นเทคโนโลยีเก่าที่เจ้าของเทคโนโลยีขายสิทธิ์ให้ผลิตในประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำ การนำเสนอเทคโนโลยีจึงมักจะไม่มีคำว่า “เตาเผาขยะ” (Incinerator) โดยอาจเลี่ยงไปใช้คำอื่นๆ แทน

 

ภาครัฐเองก็ได้มีข้อกำหนดควบคุมเตาเผาขยะไว้ค่อนข้างเข้มงวด โดยผู้ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะต้องผ่านการตรวจมลพิษทั้งมาตรฐานโรงไฟฟ้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อขอรับใบอนุญาต และยังต้องผ่านมาตรฐานควบคุมอากาศเสียประเภทสารก่อมะเร็งไดออกซินจากกรมควบคุมมลพิษอีกด้วย ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะหลีกเลี่ยงการตรวจจากกรมควบคุมมลพิษ โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษจึงได้ร่วมกับกรมอนามัยออกสุ่มตรวจเตาเผาขยะทุกขนาดทั่วประเทศ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจัดฉากสาธิตให้ตรวจ เพื่อสุขอนามัยของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

 

อย่างไรก็ตาม เตาเผาขยะก็ยังเหมาะสมกับการใช้กับขยะจากสถานพยาบาล (Medical Waste) และขยะอันตรายจากอุตสาหกรรม (Hazardous Waste) แต่ต้องเป็นเตาเผาที่ออกแบบเฉพาะมีระบบฟิลเตอร์ที่คุณภาพสูง เช่น Ceramic Filter เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะสูงตาม หากภาคเอกชนลงทุนเองคงจะไม่คุ้ม ภาครัฐจึงมีโครงการซื้อเตาเผาสำหรับขยะอันตรายเหล่านี้ โดยให้เอกชนบริหาร

 

4. Biogas เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับคนไทยซึ่งเหมาะกับน้ำเสีย ทั้งนี้ ได้มีผู้ประยุกต์ใช้กับโครงการขยะแต่ปรากฏว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง สาเหตุเนื่องจากขยะไม่ได้คัดแยกมาก่อน ทำให้ปริมาณขยะเข้าโครงการมีปริมาณมากแต่ได้แก๊สน้อย และจากการที่นำเอาขยะอินทรีย์จากระบบคัดแยกสมบูรณ์แบบของโรงงานไฮเทคแห่งหนึ่งมาทดสอบแก๊สผลปรากฏว่า ได้แก๊สเพียง 60 กว่าเท่าของปริมาณขยะอินทรีย์ ซึ่งโดยปกติประสิทธิภาพระบบไบโอแก๊สที่จะคุ้มค่า เช่น น้ำเสีย ควรได้แก๊ส 200-300 เท่าขึ้นไป ดังนั้นผู้ลงทุนก็ควรดีดลูกคิดรางแก้วให้ดีก่อนใช้เทคโนโลยีนี้ โดยจะพิจารณาที่ราคาเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้

 

5. การผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก (Pyrolysis) ถึงแม้ภาครัฐจะสนับสนุนและผลักดันเป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่มีโรงงานที่ประสบความสำเร็จและพร้อมให้เข้าไปดูงาน ปัญหาอาจเกิดจากน้ำเสียในปริมาณมากจากการล้างพลาสติก รวมถึงเทคโนโลยีที่ยังไม่สมบูรณ์นัก ประกอบกับพลาสติกในเมืองไทยมีตลาดรีไซเคิลรองรับและรับซื้อในราคาสูง จึงมีการเปรียบเทียบการลงทุนและอาจขายพลาสติกโดยไม่นำไปผลิตเป็นน้ำมัน

 

6. การผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF (Refuse Derived Fuel) เป็นแนวทางใหม่ของประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อลดมลพิษในอากาศและใช้ประโยชน์จากขยะให้ได้มากที่สุด สำหรับขยะชุมชนในประเทศไทยควรแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ขยะประมาณ 50-70 ตันต่อวัน เพื่อผลิตไฟฟ้า 1-2 MW ด้วยเทคโนโลยี Gasification สามารถใช้เครื่องจักรที่ผลิตในประเทศไทย ราคาไม่สูงนักและมีตัวอย่างให้ดู 2-3 แห่งในเมืองไทย ส่วนขยะขนาด 200 ตันต่อวัน จนถึงนับพันตันหรือหลายพันตันต่อวัน ยังจำเป็นต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศจึงจะมั่นใจได้ว่าสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

 

เทคโนโลยีการผลิต RDF ขนาดใหญ่สามารถดูงานได้จากกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จังหวัดสระบุรี ทั้ง 3 แห่ง นอกจากนี้ การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ หากไม่นำมาผลิตไฟฟ้าก็ยังสามารถจำหน่ายให้โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อใช้แทนถ่านหิน โดยมีค่าอากาศเสียน้อยกว่าถ่านหินราว 3 เท่า

 

การคัดเลือกเทคโนโลยีจากหลายมุมมอง หากเป็นนักฉวยโอกาสต้องการเทคโนโลยีราคาถูกไม่ต้องทนทาน เพื่อขายโครงการทำกำไรระยะสั้น  ส่วนธนาคารและสถาบันการเงินมองที่ระยะเวลาปลดหนี้  ไกลกว่านั้นเป็นเรื่องของผู้ลงทุน  สำหรับบริษัทใหญ่ๆ ที่มองพลังงานขยะเป็นทั้ง CSR และธุรกิจ กลุ่มนี้ก็จะเน้นคุณภาพเป็นหลักและคำนึงถึงชุมชนเป็นสำคัญ ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว ทั้ง CSR และผลกำไร ส่วนธุรกิจแบบนักลงทุนมืออาชีพ มองที่ผลตอบแทนเป็นหลัก ราคาและคุณภาพขอแค่สอบผ่าน เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่ให้เสียหายก็แล้วกัน...แล้วท่านคือคนเหล่านี้ หรือกำลังเลือกมุมมองอยู่?